RE-CONSTITUTION

เกี่ยวกับโครงการนี้

รัฐธรรมนูญคือกฎหมายพื้นฐานของรัฐที่มีลำดับศักดิ์สูงสุดเหนือกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบการปกครอง และกำหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในการจัดการองค์กรของรัฐ รวมถึงมีวัตถุประสงค์ในการจำกัดอำนาจผู้ปกครองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นหลักสำคัญ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นหลักประกันสำคัญทางสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นหมุดหมายสำคัญในการเริ่มทำความเข้าใจถึงการวางโครงสร้างทางการเมืองของรัฐ

ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วจำนวนทั้งสิ้น 20 ฉบับ มากเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากประเทศเฮติ เวเนซูเอลา และสาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับ ภายในระยะเวลาเพียง 88 ปี นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สะท้อนถึงพลวัตทางการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด การผลัดเปลี่ยนรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ไม่ว่าจะโดยสาเหตุจากการทำรัฐประหารหรือกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย นำมาซึ่งการเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ตามมา โดยรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็มีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ อายุของรัฐธรรมนูญ เนื้อหาภายในของรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

การศึกษาและทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทุกคนควรเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพที่พึงมีและได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การริเริ่มและร่วมสร้างฉันทามติร่วมกันที่จะกำหนดกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนารูปแบบการสื่อสาร ซึ่งทำให้หลายสิ่งที่ยากก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น WeVis ได้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดสำคัญที่มักแทรกเข้ามาในห้วงความคิดของผู้ที่ตั้งใจจะศึกษาและเรียนรู้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ คือการที่รัฐธรรมนูญไทยมีโครงสร้างทางเนื้อหาที่ซับซ้อน ใช้ภาษากฎหมายที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก รวมถึงความยาวของรัฐธรรมนูญที่มีตั้งแต่หลายสิบหน้าไปจนถึงหลักร้อยหน้า อีกทั้งรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ยังอยู่ในรูปแบบที่ไม่สามารถนำข้อมูลออกมาจัดการ วิเคราะห์ และเปรียบเทียบได้อย่างสะดวก

WeVis จึงเห็นความสำคัญของการทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ โดยใช้กระบวนการถอดความและวิเคราะห์ลายลักษณ์อักษรที่กำหนดขอบเขตทางอำนาจของตัวแสดงทางการเมืองเหล่านี้เอาไว้ เพื่อกระตุ้นความสนใจของประชาชนเกี่ยวรัฐธรรมนูญไทยที่ทุกคนเป็นเจ้าของ และหยิบยกเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ไปใช้เพื่อพูดคุยถกเถียงกันบนพื้นฐานของข้อมูลในสังคมแบบประชาธิปไตยต่อไป

ที่มาของข้อมูล

สำหรับแหล่งข้อมูลในส่วนของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ WeVis ได้อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

นโยบายการนำข้อมูลไปใช้ต่อ

WeVis มีความตั้งใจที่พัฒนาทุกโปรเจ็กต์ให้เป็น Open Source และเปิดข้อมูลเป็น Open Data ภายใต้เงื่อนไข Creative Commons Attribution-ShareAlike License คือสามารถนำไปเผยแพร่และดัดแปลงได้ โดยต้องระบุที่มา แต่ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และต้องเผยแพร่งานดัดแปลงโดยใช้สัญญาอนุญาตชนิดเดียวกัน

อาสาสมัครร่วมพัฒนา

เขียนโปรแกรม 👩‍💻
Rapee, Th1nkK1D, pianpwk, mixth, Thoritie

ออกแบบ 👩‍🎨
น้ำใส ศุภวงศ์

สืบค้นและรวบรวมข้อมูล 🕵️‍♀️
วรุตม์ อุดมรัตน์, สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย

บรรณาธิการ 👩‍🍳
ธนิสรา เรืองเดช

ประสานงานและจัดการอื่นๆ 🧙‍♀️
Punch Up, Boonmee Lab, iLaw

Reconstitution ได้รับการสนับสนุนทุนในการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งนำมาใช้เป็นต้นทุนในการประสานงานและบริหารจัดการ และการจัด Meetup เพื่อดำเนินโครงการ

ขอขอบคุณ a day magazine ฉบับที่ 243 ที่ริเริ่มกำหนดหัวข้อในธีม ‘Redesign’ และเชิญชวนเหล่านักออกแบบสาธารณะหลากหลายแขนง รวมถึง WeVis เอง เพื่อร่วมคิดไอเดียโปรเจกต์ที่จะร่วมออกแบบสังคมที่ดีกว่า ผ่านการ redesign สิ่งรอบตัว จนเราเกิดไอเดียที่จะพัฒนาโปรเจกต์ Reconstitution ขึ้นเพื่อ Redesign รัฐธรรมนูญไทยให้ย่อยง่ายและเข้าถึงได้โดยทุกคน - อ่านบทสนทนาของ WeVis เกี่ยวกับโปรเจกต์ Reconstitution ได้ที่ a day magazine ฉบับที่ 243 และใน บทความออนไลน์โดย a day

ขอขอบคุณบริษัท ZTRUS สำหรับการแปลงข้อมูลรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับออกมาเป็นจากไฟล์ PDF สู่ Machine readable data ผ่านเครื่องมือ OCR (Optical Character Recognition) ที่ทำให้รายละเอียดในรัฐธรรมนูญทุกฉบับสามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น

ร่วมพัฒนาโครงการ

คุณเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Technology) ในประเทศนี้ได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์อยากร่วมพัฒนาโปรเจ็กต์ ส่งความคิดเห็น เสนอไอเดียใหม่ๆ แจ้งเปลี่ยน/อัพเดทข้อมูล หรือมีข้อสงสัยอยากสอบถามได้ทาง Project Feedback Form

View This Project On Github
Share